fbpx

นมแม่: คู่มือน้ำนมแม่เพื่อคุณแม่ทุกคน ครบถ้วนที่สุด อัปเดต 2021

Baby Photo by Filip Mroz on Unsplash

น้ำนมแม่เป็นเหมือนของขวัญอันล้ำค่าชิ้นแรกของลูก กว่าที่ลูกคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาได้ คุณแม่ต้องดูแล รวมถึงให้น้ำนมดื่มกิน เพื่อสร้างการเจริญเติบโต รวมถึงสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก ให้แน่นแฟ้น ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลถึงสภาพร่างกาย และจิตใจของลูกไปถึงอนาคต Mommylicious Juice จึงอยากรวบรวมทุกเครื่องเกี่ยวกับนมแม่ เพื่อให้คุณแม่ทุกคนสามารถให้นมแม่ได้มากและนานที่สุดเพื่อลูกน้อย รวมถึงปัญหา เช่นท่อน้ำนมตัน หัวนมแตก หรือผมร่วงหลังคลอด ข้อควรระวัง และคำถามต่างๆ

เส้นทางการให้นม

ระยะก่อนคลอด

คุณแม่ควรศึกษาหาความรู้ เรื่องนมแม่ และประโยชน์ต่างๆที่ลูกจะได้ รวมถึงวิธีการปั๊มนม การนวดเต้านม การเตรียมอาหารคนท้อง และหลังคลอด หรือเครื่องดื่มมัมมี้ลิเชียสจูซ เพื่อบำรุงร่างกายและน้ำนม การวางแผนการทำงานบ้าน หรือแม้แต่การเลือกโรงพยาบาลที่ส่งเสริมการดื่มนมแม่เป็นต้นค่ะ เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว จะทำให้สิ่งต่างๆง่ายขึ้น เพราะได้รับการวางแผนมาแล้วนั่นเอง

ช่วงหลังคลอด

หลังลูกเกิดภายใน 1 ชั่วโมง ควรให้ลูกดูดนมจากเต้าในทันที เพราะน้ำนมชุดเเรกหรือน้ำนมเหลืองที่ออกมา จะมีประโยชน์ต่อร่างกายของลูกมากทีเดียวค่ะ โดยควรฝึกการอุ้มลูกให้ถูกท่า และให้ลูกดูดนมลึกเข้าไปจนถึงลานนม ควรให้ลูกดูดนมแม่ให้บ่อยที่สุดเท่าที่ลูกจะต้องการ ได้ถึ ง8-12 ครั้ง ต่อวันเลยทีเดียวค่ะ และก่อนที่คุณแม่จะกลับบ้าน ควรบีบน้ำนมให้เป็น เพื่อที่จะสามารถบีบน้ำนมด้วยตัวเอง และลดอาการคัดเต้าได้

1 เดือนแรก

ช่วงลูกอายุ 1 เดือนแรก ควรให้ลูกดูดนมให้บ่อยเท่าที่ต้องการ และไม่ควรผสมนมอื่นๆเข้าไป การที่ลูกได้ดื่มนมเเม่เพียงอย่างเดียวในช่วงอายุเท่านี้ ถือว่าเพียงพอต่อการเจริญเติบโตแล้วค่ะ

2 สัปดาห์ก่อนออกไปทำงาน

เมื่อถึงเวลาที่ใกล้เวลาทำงานเข้าไปทุกที ควรบีบ ปั๊มตุนน้ำนมไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการของลูก และแนะนำวิธีการป้อนนมให้กับคนที่จะมาอยู่เลี้ยงดูลูก หรือคุณแม่อาจเตรียมที่ปั๊มนมไปปั๊มต่อที่ทำงาน เพื่อช่วยในการระบายความคัดตึง รวมถึงได้เก็บสต็อคนมให้ลูกไว้ทานได้อีกด้วยค่ะ

3 เดือนในช่วงที่ออกไปทำงาน

ช่วงออกไปทำงาน คุณแม่ควรหาเวลาแบ่งมาบีบปั๊มนม เพื่อสต็อคตุนไว้ให้ลูกๆดื่ม และเมื่อกลับถึงบ้าน ควรเอาลูกเข้าเต้า และให้ดูดนมให้บ่อยที่สุด

ช่วง 6 เดือน

เมื่อลูกมีอายุได้ 6 เดือน ควรให้ลูกดื่มนมแม่ และควบคู่ไปกับอาหารตามวัย เพื่อช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์นั่นเองค่ะ

สารอาหารในนมแม่ ประโยชน์ล้ำค่าสำหรับลูกน้อย

สารอาหารในนมแม่

เรารู้กันดีว่านมแม่มีประโยชน์มากสำหรับเด็กทุกคน วันนี้ลองมาดูกันค่ะว่าสารอาหารที่อยู่ในนมแม่มีอะไรบ้าง แล้วดีต่อเจ้าตัวน้อยอย่างไร

กรดไขมัน

เป็นสารที่จำเป็นต่อสมองของลูก โดยสารนั้นถูกเรียกว่า DHA/AA ที่จะช่วยพัฒนาระบบการทำงานของสมอง การมองเห็นและระบบประสาท

ฮอร์โมน

ในนมแม่ มีฮอร์โมนที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของลูกมากมาย

สารภูมิคุ้มกัน

เป็นสารที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันการเกิดเชื้อหวัด การเกิดโรคเบาหวาน หรือการติดเชื้อต่างๆได้ดี

คาร์โบไฮเดรต

ภายในนมแม่ประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต หรือเรียกอีกอย่างว่า น้ำตาลแลคโตส (Lactose) สารสำคัญในการช่วยพัฒนาสมอง

วิตามิน และเกลือแร่

ภายในนมแม่ มีทั้ง วิตามินB วิตามินA และเกลือแร่ต่างๆอีกมากมาย

โปรตีน

เป็นสารที่พิเศษ เพราะไม่สามารถพบได้ในนมทั่วไปนอกจากนมแม่ อย่างโปรตีนที่จะช่วยกระตุ้นจุลินทรีย์ที่ดีในร่างกาย และช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ดีอีกด้วย

ประโยชน์ของนมแม่ต่อคุณแม่เอง

นมแม่ คืออาหารตามธรรมชาติอย่างแรกสำหรับทารก ซึ่งมีสารอาหารครบถ้วนเพียงพอที่จะให้เด็กแรกเกิดเติบโต มีพัฒนาการ และมีภูมิคุ้มกันที่ดี เราจึงควรให้ลูกได้ดื่มนมแม่ไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่เพียงแค่สารอาหารและภูมิคุ้มกันชั้นเยี่ยมที่ลูกจะได้รับเท่านั้น ตัวคุณแม่เองก็ได้ประโยชน์จากการให้นมด้วยเหมือนกันค่ะ

  • 🧡 ได้สร้างความผูกพันธ์ – เกิด Bonding ระหว่างแม่ลูกในช่วงเวลาที่อุ้มลูกเข้าเต้า มองหน้าหวานซึ้ง
  • 🧡 ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่ และมะเร็งเต้านม
  • 🧡 ได้ลดความอ้วน – การให้ลูกดื่มนมแม่ มีส่วนช่วยให้คุณแม่ได้หุ่นก่อนตั้งครรภ์กลับมา เนื่องจากการให้นมลูก ใช้พลังงานในร่างกายคุณแม่เพิ่มขึ้นจากปกติ
  • 🧡 ประหยัดเงิน เมื่อลูกดื่มนมแม่ จึงไม่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผง และเด็กนมแม่มีแนวโน้มที่จะป่วยน้อย จึงประหยัดค่ารักษาพยาบาลได้อีก

นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากนมแม่ได้อีก เช่น ใช้ทารักษาอาการหัวนมแตก ลดผื่นผ้าอ้อม และลดอาการคัน

ปัญหานมนม สำหรับคุณแม่มือใหม่

ปัญหาของคุณแม่ในการให้นมแม่

ใครกำลังเป็นคุณแม่มือใหม่ ยกมือขึ้นค่ะ ทราบกันไหมคะว่าปัญหาอันดับต้นๆ ที่คุณแม่มือใหม่มักจะเจอเลยก็คือ ปัญหาเรื่องนมๆ ที่เข้ามากวนใจ และอาจสร้างความเครียดแก่คุณแม่ได้ ปัญหาเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง

และมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง วันนี้ Mommylicious Juice ได้นำมาฝากกันแล้วค่ะ

1.ลูกแหวะนม

อาการนี้อาจเกิดขึ้นจากการที่ลูกน้อย กินนมเข้าไปในปริมาณที่มากเกินไปค่ะ หรือเรียกอาการนี้ได้อีกอย่างว่า overfeeding โดยคุณแม่ไม่ควรป้อนนมบ่อยเกินไป เพราะถ้าลูกแหวะนมบ่อยๆ อาจเกิดแผลในลำคอได้นะคะ เนื่องจากน้ำย่อยที่ออกมาพร้อมกับนม จะเป็นอันตรายกับหลอดอาหารได้ค่ะ

2.ลูกไม่เข้าเต้า

ปัญหานี้อาจะเกิดจาก มีพังผืดใต้ลิ้น ลูกมีแผลในช่องปาก ท่าอุ้มเข้าเต้าของคุณแม่ไม่พอดีกับลูก ทำให้ลูกไม่สบายตัว ดูดนมได้ไม่ถนัด ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งอาจจะเกิดจากปริมาณน้ำนมของคุณแม่มีไม่เพียงพอ หรือน้ำนมแม่ไหลแรง หรือไหลเบาเกินไป จึงทำให้ลูกไม่อยากดูดนมจากเต้าก็เป็นได้ค่ะ ลองปรึกษาคลินิกนมแม่ เพื่อปรับท่าในการเข้าเต้า และหาทางแก้ปัญหาได้ค่ะ

3.คัดเต้านม

อาการคัดเต้านม เป็นอาการปกติ ที่กำลังเตือนว่า คุณแม่ต้องให้นม หรือถึงเวลาปั๊มนมแล้ว เนื่องจากน้ำนมถูกผลิตออกมา ถ้าหากคุณแม่ทิ้งเต้าให้คัดเเข็ง อาจเสี่ยงต่อการเกิดเต้านมอักเสบและเสี่ยงต่อปริมาณน้ำนมที่จะลดน้อยลงอย่างมากด้วยค่ะ ทางที่ดี คุณแม่ควรเตรียมเครื่องปั๊มนมเอาไว้กับตัว เมื่อรู้สึกคัดเต้านมเมื่อไหร่ ก็จะสามารถหยิบมาปั๊มระบายความคัดตึงได้ทันทีค่ะ

4.เจ็บหัวนม

เกิดจากลูกน้อยดูดนมไม่ถูกวิธี จะทำให้หัวนมของคุณแม่มีอาการเจ็บ และส่งผลให้คุณแม่ไม่อยากให้นมลูกได้ค่ะ การจัดท่าของลูก เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยควรจับลูกนอนหงาย ให้คางของลูกชิดกับนมมากที่สุด แต่ระวังอย่าให้จมูดเข้ามาชิด เพราะจะทำให้ขากรรไกรล่างของลูกกระตุ้นนมได้ไม่ดี หากขากรรไกรและลิ้นของลูกอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและลูกอมหัวนมได้ลึกถึงลานนม จะทำให้น้ำนมนั้นไหลออกมาได้ดีและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บหัวนมค่ะ

5.น้ำนมน้อย

ปัญหาน้ำนมมีปริมาณน้อย หรือไม่มีน้ำนมนั้นอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สภาพร่างกายของคุณแม่ที่อาจจะไม่แข็งแรง ความเครียด ที่ทำให้น้ำนมไม่ไหล โดยปัญหานี้สามารถแก้ไขได้นะคะ โดยการรับประทานอาหารที่ช่วยขับน้ำนม วิตามินต่างๆ ที่เหมาะสม หรือดื่มเครื่องดื่มจากธรรมชาติ อย่างน้ำหัวปลี Mommylicious Juice ก็จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรง เพิ่มปริมาณน้ำนมให้มากขึ้น รวมถึงควรทำจิตใจให้ผ่องใส หากิจกรรมคลายเครียด จะช่วยได้อีกทางหนึ่งค่ะ

วิธีการเก็บสต็อกนม

วิธีเก็บ สต็อก นมแม่

การเก็บรักษานมแม่ หรือที่เรียกกันว่าการสต็อกนมถือเป็นวิธีสำคัญที่คุณแม่ทุกคนควรทราบ เพราะหากเก็บรักษาหรือนำออกมาใช้อย่างไม่เหมาะสม นมที่เราอุตส่าห์ตั้งใจปั๊มไว้อาจจะเสียได้นะคะ 

การเก็บนมนอกห้องแอร์

หากปั๊มนมแล้ววางไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติไม่ใช่ห้องแอร์ อุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 37 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้ ภายใน 1 ชั่วโมง หากอุณหภูมิสูงกว่านั้น หรือปล่อยให้เกินเวลาจะทำให้เกิดเชื้อโรคปนเปื้อนในนมได้ค่ะ

การเก็บนมในห้องแอร์

หากปั๊มนมวางไว้ในห้องแอร์ ที่มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส น้ำนมเหล่านี้จะสามารถอยู่ได้ประมาณ 4 ชั่วโมงค่ะ

การเก็บนมในกระติกน้ำเเข็ง

สำหรับคุณแม่ที่ปั๊มจากที่ทำงาน หรือปั๊มนมจากนอกบ้าน การแช่นมในกระติกน้ำแข็ง ควรวัดให้มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสามารถเก็บน้ำนมไว้ได้ 24 ชั่วโมง

การเก็บนมในตู้เย็น

ช่องธรรมดา

การเก็บน้ำนมในช่องธรรมดาควรมีอุณหภูมิ ไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสามารถ เก็บน้ำนมไว้ได้ 5 วัน

ช่องแช่แข็งตู้เย็นแบบประตูเดียว

ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิไม่เกิน -10 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสามารถเก็บนมได้ถึง 2 สัปดาห์

ช่องแช่แข็งตู้เย็นแบบประตูแยก

โดยมักจะมีอุณหภูมิต่ำสุด -20 องศาเซลเซียส จะสามารถเเช่น้ำนมไว้ได้ยาวนานถึง 3 เดือน

ตู้แช่เเข็ง

หากเป็นตู้แช่เเข็งโดยเฉพาะ แบบที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส คุณแม่สามารถเก็บน้ำนม ไว้ได้ถึง 6 เดือน

การใช้นมสต็อก

  • นมอุณหภูมิปกติ หากลูกทานนมในขวดไม่หมด ควรทิ้งทันที เพราะหากนำกลับไปแช่อาจมีสารหรือเชื้อปนเปื้อนทำให้ลูกป่วย
  • นมที่เก็บในอุณหภูมิ สูงกว่า 37 องศา ไม่ควรให้ลูกดื่ม เพราะอาจมีเชื้อปนเปื้อนได้
  • นมแช่เย็น หลังจากนำออกจากช่องแช่เย็นควรพักไว้ในน้ำสะอาด ประมาณ 5 นาที เพื่อให้ความเย็นลดลงค่ะ
  • นมแช่แข็ง ควรย้ายจากช่องแช่เเข็งมาใส่ในช่องเย็นธรรมดา ประมาณ 12 ชั่วโมง แล้วจึงนำเอามาพักไว้ในน้ำสะอาด ประมาณ 5 นาทีค่ะ
  • ไม่ควรอุ่นนมด้วยไมโครเวฟ หรือแช่น้ำร้อนเพราะทำให้สารอาหารหายไปจากนม

ปัญหาที่อาจเจอจากการให้นม

ปัญหาในการให้นมแม่

แน่นอนว่าคุณแม่ทุกคนต่างก็อยากให้ลูกได้รับประโยชน์จากนมแม่ให้มากและยาวนานที่สุด แต่บางครั้งการให้นมแม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ลองมาดูกันค่ะว่าปัญหาในการให้นมแม่มีอะไรบ้าง รวมไปถึงสาเหตุและทางแก้ด้วยค่ะ

หัวนมแตก

เป็นปัญหาใหญ่ที่คุณแม่หลายคนพบนะคะ ซึ่งปัญหาหัวนมแตกมีสาเหตุมาจาก การที่ปล่อยให้บริเวณหัวนมมีความแห้ง ที่อาจเกิดจากการใช้สบู่ น้ำหอม หรือแอลกอฮอล์ และสาเหตุจากการที่ลูกดูดนมผิดวิธีค่ะ

วิธีแก้: งดการใช้สบู่ แอลกอฮอล์ เลือกใช้น้ำนมของตัวเองทาลงบริเวณหัวนมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และจับท่าให้ลูกดูดนมให้ลึกเข้าไปถึงลานนม

หัวนมเจ็บ

อาการหัวนมเจ็บเป็นอีกหนึ่งอาการที่เกิดคล้ายกับอาการหัวนมแตก ซึ่งมีสาเหตุมาจากที่ลูกดูดนมผิดท่า

วิธีแก้: จับท่านอนให้นมของลูกให้ถูกต้อง ให้ลูกอมหัวนมไปจนถึงลานนม และให้คางของลูกสัมผัสกับเต้านม จะช่วยลดอาการเจ็บและช่วยให้ลูกสามารถดูดนมได้ดีขึ้นค่ะ

ท่อน้ำนมอุดตัน

ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันเกิดจากการที่นมค้างอยู่ภายในเต้านม และจะส่งผลให้เกิดก้อนไตแข็งๆ และมีจุดสีขาวขึ้นทั่วหัวนม ทำให้คุณแม่เกิดภาวะเต้านมอักเสบได้ค่ะ และอาจเกิดจากการที่คุณแม่สวมเสื้อผ้า หรือเสื้อชั้นในที่รัดเกินไปค่ะ

วิธีแก้: นวด หรือประคบร้อน เพื่อให้น้ำนมได้ระบายออกจากเต้า พยายามปั๊มนมออกบ่อยๆ อย่าให้นมค้างเต้า และเลือกใส่เสื้อผ้าและเสื้อชั้นในที่พอดีตัว ไม่รัดเเน่นจนเกินไป

เต้านมคัด

อาการเต้านมคัดเกิดจากการที่มีน้ำนมคั่งอยู่ในเต้านมของคุณแม่ ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวและทำให้ลูกดูดนมได้ลำบาก

วิธีแก้: ปั๊มนมออกให้เกลี้ยงเต้า หรือใช้วิธีการนำลูกเข้าเต้าบ่อยๆก็จะช่วยได้ค่ะ

น้ำนมน้อย

อาการน้ำนมน้อยอาจเกิดจากการที่คุณแม่ดื่มน้ำน้อย และไม่ค่อยได้เอาลูกเข้าเต้า อีกทั้งการรับประทานอาหารก็มีส่วนเช่นกันค่ะ

วิธีแก้: ดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว นำลูกเข้าเต้า หรือปั๊มนมบ่อยๆ และเลือกทานอาหารที่ช่วยในการกระตุ้นการผลิตน้ำนม อย่าง เครื่องดื่มจากธรรมชาติ มัมมี้ลิเชียสจูซ

หัวนมบอด

ปัญหาหัวนมบอด อาจทำให้ลูกไม่สามารถดูดนมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งคุณแม่สามารถตรวจอาการหัวนมบอดได้ด้วยการใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งคีบหัวนมขึ้นมาค่ะ

วิธีแก้: ใช้วิธีการดึงหัวนมขณะอาบน้ำ ด้วยการดึง บีบ ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ทำทุกวัน เช้าเย็น จะช่วยได้ค่ะ

การกระตุ้นน้ำนม

1. เช็คเครื่องปั๊ม กรวยปั๊ม วิธีปั๊มให้ดีค่ะ

เรื่องนี้สำคัญเบอร์หนึ่ง เครื่องปั๊มนี่ไปขอลองตามร้านได้นะคะว่าเครื่องไหนเหมาะกับเรา กรวยขนาดไหนถึงพอดีกับเต้า ถ้าต้องซื้อใหม่ก็คือซื้อใหม่ค่ะ เครื่องปั๊มเดี๋ยวนี้ราคาไม่แพง มือสองก็หาไม่ยาก คุ้มค่า บางคนเต้าก็เหมาะกับเครื่องปั๊มมือ.. มีนะคุณแม่แบบนี้ ต้องลองค่ะ เต้าใครเต้ามัน เต้าไม่เหมือนกันนะเออ

2. ประคบร้อนและนวดเต้าเบาๆด้วยมือก่อนปั๊มนมเสมอ

เทคนิคนี้ มินท์ได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณมายา โบลแมน พยาบาลนมแม่เบอร์1ของโลก เคยเจอคุณมายาที่คลินิคนมแม่ตอนมาเยี่ยมชมค่ะ การนวดเต้าจะช่วยให้เต้านมผ่อนคลาย กระตุ้น และขยายท่อน้ำนม จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมได้

3. ดื่มน้ำเยอะๆ

ดื่มไปเถอะค่ะของเหลวทุกประเภท ดื่มวนไป ให้เรามีของเหลวในร่างกายให้เพียงพอ

4. อย่าจ้องนมตอนปั๊มเด็ดขาด!

เหมือนจะขำแต่ไม่ขำ จงทำตัวชิลๆ ไถไอจี เฟซบุ๊ค ลาซาด้า ชอปปี้ หนังเกาหลี หนังฝรั่ง ละครย้อนหลัง เลือกสิ่งที่แม่สะดวกเอาค่ะ แต่มันจะช่วยให้นมเยอะขึ้นจริงๆ อย่าจับจดกับเต้ามากเกินไปค่ะ เต้านมก็เครียดเป็นนะคะ

5. นอนหลับพักผ่อน

ลูกหลับ แม่ต้องหลับไปพร้อมกับลูกค่ะ พยายามนอนพักให้เพียงพอ ลดความเครียดให้ร่างกายแม่ค่ะ

6. อาหารบำรุงน้ำนม

เครื่องดื่มบำรุงน้ำนมแม่ อย่าง Mommylicious Juice ก็เป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยในการกู้น้ำนมแม่ ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติล้วนๆ ไม่ว่าจะขิง หัวปลี ใบกะเพรา มะเขือเปราะ จะช่วยคุณแม่กู้น้ำนมอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีหรือยาใดๆ ที่จะอาจทำให้มี side effect กับคุณแม่หรือคุณลูก ไม่ใส่สารกันบูด และหวานน้อยจากธรรมชาติเท่านั้น ทำให้คุณแม่สามารถทาน Mommylicious Juice ได้ทุกวัน วันละหลายขวด โดยไม่ต้องกังวลใจใดๆค่ะ

การให้นมลูกในช่วงโควิด

นมแม่ในช่วงโควิด-19

ข้อมูลล่าสุดจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่แน่ชัดว่าทารกสามารถติดเชื้อโควิด-19ผ่านทางน้ำนมแม่ได้ และเมื่อเทียบความเสี่ยงระหว่างการขาดสารอาหารและภูมิคุ้มกันอื่นๆจากนมแม่ WHO จึงยังคงแนะนำให้แม่ทุกคนไม่ว่าแม่จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้นมลูกต่อไปตามปกติ เพราะประโยชน์ที่ลูกจะได้รับจากนมแม่มีมากกว่า และการแยกลูกออกจากแม่มีผลกระทบและความเสี่ยงด้านอื่นสูงกว่า

การปฏิบัติตัวในการให้นมในช่วงโควิด-19

  1. ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังสัมผัสลูกหรือเครื่องปั๊มนมทุกครั้ง
  2. อาบน้ำหรือเช็ดทำความสะอาดเต้านมและหัวนมก่อนให้นมลูก
  3. ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาการให้นมหรือปั๊มนม
  4. ทำความสะอาดอุปกรณ์ปั๊มนมด้วยการล้างให้สะอาด และนึ่ง, ต้ม หรืออบอุปกรณ์เพื่อฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำ
น้ำหัวปลีเพิ่มน้ำนม mommylicious juice

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการให้นมแม่

แม่ให้นมห้ามดื่มน้ำเย็นจริงหรือไม่

คำตอบก็คือ อุณหภูมิของน้ำไม่ได้เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำนม ไม่ว่าจะเป็นน้ำเย็น น้ำร้อน หรือน้ำอุ่น แต่สิ่งสำคัญที่มีผลต่อปริมาณน้ำนมของคุณแม่อันดับแรกเลยก็คือ ปริมาณของน้ำที่ดื่มเข้าไป อาหารที่ทาน และวิธีการกระตุ้นน้ำนมต่างหากที่จะช่วยให้น้ำนมมีปริมาณมากขึ้น

ทำจี๊ด คืออะไร

น้ำนมของคุณแม่ถูกกระตุ้น ทำให้น้ำนมของคุณแม่ไหลได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมให้มากขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้น การทำจี๊ด ยังเป็นวิธีที่จะช่วยให้คุณแม่สามารถปั๊มนมได้เกลี้ยงเต้า ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บคัดเต้านมได้เป็นอย่างดีค่ะ ซึ่งสาเหตุที่เรียกว่าการทำจี๊ดเลยก็คือ คุณแม่จะมีความรู้สึกจี๊ดขึ้นมาที่บริเวณนม ก่อนที่น้ำนมจะไหลออกมา

แม่ให้นมทานยาได้หรือไม่

เมื่อคุณแม่ทานยาเข้าไป ยาเหล่านั้นจะไม่สามารถเดินทางไปผสมกับน้ำนมได้โดยตรง ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการกรองจากพนังหลอดเลือดฝอย และผนังต่อมน้ำนมก่อน ซึ่งตัวยาเหล่านั้นจะส่งผ่านไปยังน้ำนมของคุณแม่เพียง 1% เท่านั้นค่ะ อีกทั้งระบบของร่างกายลูกก็ยังมีระบบของร่างกายที่คอยป้องกันยาเอาไว้เช่นเดียวกัน นั่นแปลได้ว่า หากคุณแม่ทานยาเพื่อรักษาอาการป่วยธรรมดา ก็สามารถทำได้ค่ะ แต่ยาบางตัวก็ส่งผลกับการให้นมแม่นะคะ ดังนั้นควรปรึกษาคุณหมอก่อนเพื่อความแน่ใจค่ะ ตัวอย่างยาที่ควรงดให้นมคือ  

1.ยาเคมีบำบัด ยาต้านมะเร็ง ซึ่งอาจทำลายเซลล์ในร่างกายของลูกได้ค่ะ
2.ยาลดปวดไมเกรน เออร์โกทามีน อาจทำให้ลูกมีปัญหาทางการนอน หรืออาจมีอาการชักได้ค่ะ
3.ยากรดวิตามิน A ที่ใช้ในการรักษาสิว อาจส่งผลไปยังตับของลูกได้ค่ะ
4.ยารักษาโรคซึมเศร้า อาจทำให้ระบบประสาทของลูกผิดปกติ
5.ยาลดความดัน และรักษาไมเกรน อาจทำให้ไตของลูกมีการทำงานที่ผิดปกติ
6.ยาโบรโมคริปทีน อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำนมน้อยลง
7.การรักษาโรคด้วยสารกัมมันตรังสี

แม่ติดเชื้อโควิด-19 ให้นมลูกได้หรือไม่

ได้ ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าสามารถติดเชื้อโควิดผ่านทางนมแม่ และนมแม่ยังคงเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก คุณแม่จึงยังสามารถให้นมลูกได้ตามปกติด้วยความระมัดระวัง ทำความสะอาดมือก่อนสัมผัสลูก และใส่หน้ากากตลอดเวลา

10 responses to “นมแม่: คู่มือน้ำนมแม่เพื่อคุณแม่ทุกคน ครบถ้วนที่สุด อัปเดต 2021”

  1. […] สำหรับคุณแม่มือใหม่ทุกคนการให้นมแม่กับลูกเปรียบเหมือนของขวัญล้ำค่า ที่จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยเติบโตได้อย่างแข็งแร็งและมีความสุข แต่บางครั้งการให้นมแม่ก็มาพร้อมกับความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นอาการเต้านมอักเสบ โดนลูกกัด หรืออาการหัวนมแตก Mommylicious Juice มีวิธีดูแลตัวเองเมื่อประสบปัญหาหัวนมแตกมาแนะนำค่ะ […]

  2. […] เส้นทางนมแม่ของบางคนอาจจะเจอกับปัญหาน้ำนมไหลน้อย สาเหตุอาจเกิดจาก การเลือกทานอาหารของคุณแม่ และการที่เต้านมไม่ได้รับการกระตุ้นโดยทราบกันไหมคะว่า การนวดกระตุ้นเต้านม ถ้าหากทำให้ถูกวิธี จะช่วยให้ปริมาณน้ำนมไหลมากขึ้น ลดปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน และช่วยลดการเจ็บคัด ตึงเต้านมได้ดีทีเดียวค่ะ […]

  3. […] การเก็บรักษานมแม่ หรือที่เรียกกันว่าการสต็อกนมถือเป็นวิธีสำคัญที่คุณแม่ทุกคนควรทราบ เพราะหากเก็บรักษาหรือนำออกมาใช้อย่างไม่เหมาะสม นมที่เราอุตส่าห์ตั้งใจปั๊มไว้อาจจะเสียได้นะคะ Mommylicious Juice จึงอยากนำวิธีเก็บน้ำนมแม่ รักษาสต็อกน้ำนมแม่ให้อยู่นานที่สุดและการนำนมออกมาให้ลูกดื่มมาฝากกันค่ะ […]

Leave a Reply