fbpx

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสำหรับคุณแม่มือใหม่ทำความเข้าใจ พร้อมวิธีป้องกัน

depressed woman

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blues) เรื่องใกล้ตัวของคุณแม่มือใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจ รู้จักอาการของภาวะเหล่านี้ และที่สำคัญที่สุดรู้จักสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า รวมไปถึงเข้าใจลักษณะอาการของคนที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดว่ามีอาการอย่างไรบ้าง ต่างจาก โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) อย่างไร พร้อมวิธีดูแลตัวเอง ลดความเสี่ยงของอาการเหล่านี้เพื่อคุณแม่มือใหม่ได้เตรียมรับมือค่ะ

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blue) คืออะไร?

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด(Baby Blue) คือ การเกิดสภาวะทางจิตใจที่ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งคุณแม่ที่คลอดลูกน้อยทุกคนมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดกันเป็นปกติ ตามสถิติแล้วคุณแม่มีโอกาสมากถึง 50 – 85 % ที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าหลังจากคลอดใหม่

อาหารของ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blue)

อาการที่อาจจะพบได้ระหว่างภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีดังนี้ค่ะ

  • ซึมเศร้า
  • ร้องไห้หลังคลอด
  • อารมณ์ แปรปรวน
  • นอนไม่หลับ
  • มีปัญหาในการตัดสินใจ และจัดการกับอารมณ์
  • รู้สึกว่าดูแลลูกไม่ได้ดี

ถ้าคุณแม่เริ่มรู้สึกกลัว ควบคุมตัวเองไม่ได้ อยากทำร้ายตัวเองหรือลูก คุณแม่ต้องรีบหาความช่วยเหลือ ติดต่อกรมสุขภาพจิต 1323 นะคะ

การเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร?

สาเหตุการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด มีปัจจัยหลักคือ การเปลี่ยนแปลงของสมดุลฮอร์โมน และมีปัจจัยอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการเครียด วิตกกังวล ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่มีประวัติอาการซึมเศร้ามาก่อน ความเครียดจากการเลี้ยงลูก มีปัญหาทางด้านการเงินหรือการงาน ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม เป็นต้น

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นนานแค่ไหน?

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด พบได้มากที่สุดตั้งแต่หลังคลอดใหม่ ๆ ใน 2-3 วันแรก ไปจนถึงสองอาทิตย์ค่ะ ดังนั้นคุณแม่ท่านไหนที่กำลังวิตกกังวลว่าเราผิดปกติ ไม่ต้องกังวลนะคะ อาการเหล่านี้จะหายได้เองตามธรรมชาติค่ะ

แต่ถ้าหากเกิดภาวะซึมเศร้าแล้วอาการไม่หายไปเองภายใน 14 วัน หมายความว่าคุณแม่อาจจะเกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) ได้ค่ะ ดังนั้นจึงควรพบคุณหมอเพื่อทำแบบประเมินโรคซึมเศร้า วินิจฉัยอาการ และทำการรักษาต่อไปนะคะ

วิธีลดความเสี่ยงอาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ทั้งคุณแม่เองและคนรอบตัว สามารถช่วยกันลดอาการซึมเศร้า และ โรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ ด้วยวิธีดังนี้ค่ะ

Mom with kid playing outside

ไม่คาดหวังความ Perfect

คุณแม่มือใหม่อาจจะเครียดจากการคิดว่าเราดูแลลูกได้ไม่ดีพอ ลูกร้องไห้ ลูกไม่หลับ หรือลูกป่วย ก็โทษตัวเองว่าเราเลี้ยงลูกไม่เก่ง จนเกิดเป็นความเครียดสะสมภายในใจ ดังนั้นคุณแม่ลองปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าเราเลี้ยงลูกคนแรก ยังไม่มีประสบการณ์ก็ต้องคอยศึกษากันไป หรือปรึกษาคุณแม่ท่านอื่น ๆ เพื่อคลายความเครียด

หาผู้ช่วยเลี้ยงลูก

หากเลี้ยงคนเดียวไม่ไหวหรือรู้สึกว่าเหนื่อยมากเกินไป จนพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการเบลอแล้ว ต้องมองหาผู้ช่วยเลี้ยงลูกแล้วค่ะ โดยคุณแม่อาจจะเปลี่ยนให้คุณพ่อมาทำหน้าที่ตรงนี้  หรือจะให้คนในครอบครัวช่วยกันเลี้ยง เพื่อให้คุณแม่ได้มีเวลาพักผ่อน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่คุณแม่อยากทำ ผ่อนคลายความเครียดไปในตัว

กำหนดเวลาให้ลูก

หากคุณแม่ไม่สามารถหาผู้ช่วยเลี้ยงลูกได้ คุณแม่ต้องเริ่มวางแผนเวลาของลูกน้อยในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำเป็นประจำของลูก เช่น เวลาตื่น เวลานอน เวลาอึ เวลาร้องไห้ ในแต่ละครั้ง เพื่อให้คุณแม่วางแผนในการนอนหลับพักผ่อนได้ยาวนานขึ้น ค่อย ๆ ปรับกันไปพร้อมกัน คุณลูกทำได้ คุณแม่ก็สบาย 🙂

ทำกิจกรรมนอกบ้าน

การทำกิจกรรมนอกบ้าน อย่างเช่น ไปเดินห้างช้อปปิ้ง ไปเข้าสปา เพื่อให้คุณแม่ได้มีเวลาได้อยู่กับตัวเอง หรือหากลูกน้อยโตพอประมาณแล้วก็สามารถพาไปทำกิจกรรมนอกบ้านพร้อม ๆ กับคุณแม่ได้เช่นกัน กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมสายสัมพันธ์แม่ลูกมากขึ้นค่ะ

Depressed lady

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) คืออะไร?

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) คือการเปลี่ยนแปลงในด้านร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรมของคุณแม่หลังคลอดบุตร โดยมีความรุนแรง และยาวนานกว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด(Baby Blue) ค่ะ

โดยคุณแม่ประมาณ 10% จะมีอาการรุนแรงมากกว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอด(Baby Blue) และพัฒนามาเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) ได้ค่ะ

โดยในช่วงนี้ สามารถให้นมแม่ได้ตามปกติ แต่ถ้าต้องมีการทานยาร่วมด้วย จะต้องปรึกษาก่อนว่าการให้นมแม่จะกระทบกับลูกหรือเปล่าค่ะ

อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด

อาการของคุณแม่ที่มีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอด โดยมีอาการเกินสองอาทิตย์หลังคลอด มีดังนี้ค่ะ

  • นอนไม่หลับ
  • ไม่ปัญหาทางการทานอาหาร หรือพฤติกรรมการทานอาหารที่เปลี่ยนไป
  • เหนื่อยง่ายมากๆ ผิดปกติ
  • อารมณ์ทางเพศลดลงอย่างมาก
  • อารมณ์แปรปรวนผิดปกติ
  • ซึมเศร้าหนัก
  • ไม่รู้สึกยินดียินร้าย
  • รู้สึกหมดหวัง ไม่มีคุณค่า
  • ไม่อยากมีชีวิตอยู่
  • อยากทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น

โรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร?

อาการ Postpartum depression เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การมีอาการโรคซึมเศร้ามาก่อน ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ความไม่พร้อม การมีลูกมากจนดูแลไม่ไหว อยู่คนเดียว และไม่มีคนช่วยเหลือในการเลี้ยงลูก

โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) เป็นนานแค่ไหน?

อาการโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) จะเกิดขึ้นเมื่อคุณแม่ยังรู้สึกซึมเศร้าหลังผ่านไปสองอาทิตย์แล้วค่ะ และอาจจะเป็นโรคซึมเศร้ายาวนานได้ถึงหนึ่งปี โดยการรักษาจะร่วมกับการใช้ยาต้านการซึมเศร้าค่ะ ถ้ามีอาการนานหรือรุนแรงมากๆ อาจจะพัฒนาไปเป็นโรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) ได้ค่ะ

Woman with mental illness

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) คืออะไร?

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) เป็นโรคที่มีความรุนแรงกับคุณแม่หลังคลอด พบเจอได้ไม่บ่อยแค่ประมาณ​ 0.1-0.2% หลังคลอด แต่อาการรุนแรงจนกระทบต่อทั้งคุณแม่และคุณลูกเองได้ค่ะ

อาการของโรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis)

อาการโรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) มักจะเกิดขึ้นในช่วงสองอาทิตย์แรกหลังคลอด แต่ก็อาจจะเกิดหลังจากนั้นได้ค่ะ โดยจะมีอาการ

  • หลอน ได้ยินเสียงแว่ว
  • เห็นภาพหลอน
  • มีความเชื่อที่ไม่เป็นจริง
  • พูดเร็ว หรือคิดเร็วเกินไป
  • ซึมเศร้าไปเลย ไม่พูด ไม่มีแรง นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ได้
  • หวาดกลัว ผวา
  • สับสนมากๆ
  • พฤติกรรมผิดปกติไปจากที่เคยมาก

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) เกิดจากอะไร?

อาการโรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น

  • มีประวัติโรคจิตเวชในครอบครัว
  • เคยได้รับการวินิจัยว่าเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว หรือมีอาการทางจิตเวชขั้นรุนแรง
  • มีอาการมาจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน

โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) เป็นนานแค่ไหน?

อาการของโรคจิตหลังคลอดจะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และอาจจะมีอาการป่วยทางจิตยาวนานได้ถึงหนึ่งปีเลยค่ะ

การรักษาโรคจิตหลังคลอด

การรักษา Postpartum psychosis นั้นจะใช้ยาเพื่อลดอาการ และอาจจะต้องมีการแอดมิดในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง และคนรอบข้าง รวมถึงลูกน้อยค่ะ

ทาง เครื่องดื่มบำรุงน้ำนมแม่ Mommylicious Juice ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคน ผ่านภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไปได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย แล้วมาใช้เวลาร่วมกับลูกน้อย เฝ้ามองการเติบโตของเขาไปพร้อมๆ กันนะคะ

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดคืออะไร?

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดคือการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์คุณแม่หลังจากคลอดลูก เช่น ซึมเศร้า เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ไม่อยากทานอาหาร ฯลฯ​ โดยอาการจะหายไปเองหลังจากสองสัปดาห์​ แต่ถ้านานกว่านั้นอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ค่ะ

โรคซึมเศร้าหลังคลอดอันตรายหรือไม่?

สำหรับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดปกติ คุณแม่จะมีอาการดีขึ้นเองหลังสองสัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการซึมเศร้านานกว่านั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพราะอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด ที่ต้องใช้ยารักษาได้ค่ะ

ซึมเศร้าหลังคลอดเป็นนานแค่ไหน?

สำหรับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดทั่วไป อาการจะดีขึ้นเองใน 14 วัน แต่ถ้าอาการพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการจะดีขึ้นในช่วง 2-6 เดือน หรือนานที่สุดคือ 1 ปีค่ะ

One response to “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสำหรับคุณแม่มือใหม่ทำความเข้าใจ พร้อมวิธีป้องกัน”

  1. […] แสงแดด: ร่างกายเราสามารภนำแสงแดดอ่อนๆ ในช่วงเช้า มังสังเคราะห์เป็นวิตามิน D ที่ได้ ช่วยให้กระดูกแข็งแรง สร้างความสดชื่น และยังลดอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้ด้วยค่ะ […]

Leave a Reply