fbpx

อึลูกบ่งบอกสุขภาพ

baby in diaper

การขับถ่ายของลูกบ่งบอกสุขภาพภายในได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตการขับถ่ายของลูกอยู่เสมอ เพื่อเช็กสุขภาพลูกว่ามีความปกติหรือไม่ โดยคุณแม่สามารถเช็กเบื้องต้นได้จากจำนวนครั้งที่ขับถ่าย และการสังเกตสีและลักษณะของอุจจาระของลูก

จำนวนครั้งของการขับถ่ายในเด็กนมแม่

  • แรกเกิด–1 เดือน: อุจจาระวันละ 10 ครั้ง
  • 1–4 เดือน: ลดปริมาณอุจจาระเหลือวันละ 6-8 ครั้ง
  • 5-6 เดือน: การอุจจาระลดลงเหลือ 1-2 ครั้งต่อวัน หากเริ่มเสริมอาหารแล้วอาจมีการท้องผูกในช่วงแรก

การสังเกตอุจจาระของเด็กแรกเกิด

ลักษณะของอุจจาระของลูกในช่วงแรกจะมีความแตกต่างและเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย โดยหากมีลักษณะดังนี้บ่งบอกว่าสุขภาพเป็นปกติ โดยในช่วงนี้สารที่ทำลูกตัวเหลืองก็จะถูกขับออกมาด้วย

  • อายุ 1-2 วันแรก: สีเขียวเข้มถึงดำคล้ายน้ำมันดิบ หรือเรียกว่า ขี้เทา (meconium)  ซึ่งเป็นอุจจาระในลำไส้ของลูกตั้งแต่ยังอยู่ในท้องคุณแม่ ถึงแม้ไม่ได้ทานอาหาร แต่เกิดจากการกลืนน้ำคร่ำ และสารบางอย่างที่สร้างจากทางเดินอาหารของลูก
  • อายุ 2 วัน: สีเขียวจางลงอาจมีสีน้ำตาลปน มีน้ำเพิ่มขึ้น
  • อายุ 3-4 วัน: มีปริมาณอุจจาระมากขึ้น มีความเหนียวน้อยลง และมีสีเขียวปนเหลือง
  • อายุ 4 วันขึ้นไป: มีสีเหลืองทอง ลักษณะนิ่มปนเหลว
  • อายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์: มีสีเหลืองทอง ถ่ายมากกว่าวันละ 5-6 ครั้ง
  • อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป: มีสีเหลืองทองหรือปนสีเขียว ขึ้นอยู่กับอาหารที่แม่รับประทาน จำนวนครั้งในการขับถ่ายลดลง

สีของอุจจาระที่แตกต่างกัน

สำหรับเด็กนมแม่ สีและลักษณะของอุจจาระจะขึ้นอยู่กับอาหารที่คุณแม่รับประทาน แต่โดยปกติแล้วจะมีลักษณะนิ่มปนเหลว แม่สามารถสังเกตสีและลักษณะของการขับถ่ายเพื่อบ่งบอกสุขภาพของลูกได้

  • สีเหลือง: เป็นสีปกติของเด็กนมแม่ล้วน บ่งบอกสุขภาพที่ดี
  • สีน้ำตาลอ่อน: สุขภาพดีเป็นปกติ
  • สีเขียว: หากลูกยังทานนมแม่ล้วน แปลว่าคุณแม่ทานผักเยอะ
  • สีขาว สีซีด: มีความผิดปกติ อาจมีปัญหาท่อน้ำดีหรือตับ ควรปรึกษาแพทย์
  • สีแดง: อาจเกิดจากการมีแผลอักเสบในลำไส้หรือทวารหนัก ควรปรึกษาแพทย์
  • สีดำ: หากไม่ใช่ช่วง 1-2 วันแรกเกิด อาจเกิดจากคุณแม่ทานอาหารมีธาตุเหล็กสูง หรือลูกมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
  • สีน้ำตาลเข้ม: เมื่อลูกอายุมากกว่า 6 เดือนและเริ่มทานอาหารร่วมกับนมแม่ อุจจาระจะมีสีน้ำตาลเข้มและเป็นก้อนมากขึ้น

เมื่อลูกมีอาการท้องผูก

จำนวนครั้งในการขับถ่ายเป็นเรื่องไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆด้าน จึงควรสังเกตอาการของลูกร่วมด้วยว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยหากลูกท้องผูกจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • ไม่ค่อยขับถ่าย: หากลูกเริ่มทานอาหารเสริมนอกเหนือจากนมแม่ อาจไม่ถ่าย 1-2 วัน แต่หากลูกไม่ถ่ายเกิน 2-3 วัน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกอาการท้องผูก
  • ออกแรงเบ่ง: หากลูกท้องผูก ขับถ่ายไม่สะดวกจะมีสีหน้าเคร่งเครียด ร้องไห้ระหว่างขับถ่าย
  • มีเลือดออก: หากมีเลือดปนมากับอุจจาระ แปลว่าทวารหนักมีการฉีกขาดจากการเบ่ง
  • ท้องแข็ง: ท้องของลูกจะตึงหรือแข็ง เกิดจากการมีอาการท้องอืดร่วมกับอาการท้องผูก
  • เบื่ออาหาร: ลูกอาจไม่ยอมกินนมหรือกินน้อย เนื่องจากอึดอัดไม่สบายท้อง

การดูแลเมื่อลูกท้องผูก

โดยปกติเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่ทานนมแม่ล้วนมักไม่ค่อยมีอาการท้องผูก แต่หากมีอาการ อาจเป็นเพราะอาหารบางอย่างที่แม่ทาน คุณแม่ลองปรับอาหารดู สำหรับเด็กที่มีการเสริมนมผง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับนม เนื่องจากอาจแพ้สารอาหารบางอย่าง

ส่วนเด็กที่เริ่มทานอาหารเสริมแล้ว ควรปรับเสริมอาหารที่เพิ่มกากใย เช่น ผัก ผลไม้ และให้ดื่มน้ำเยอะขึ้น หรือดื่มน้ำผลไม้เพื่อกระตุ้นการขับถ่าย

นอกจากนี้คุณแม่ยังช่วยกระตุ้นการขับถ่ายให้ลูกได้ด้วยการให้ลูกได้ขยับร่างกายเพิ่มขึ้น หรือนวดช่องท้องเพื่อกระตุ้นให้ลำไส้ทำงาน

หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจให้ยาระบายหรือยาเหน็บเพื่อรักษาอาการ

สรุปเรื่องการขับถ่ายของลูก

การขับถ่ายของลูกในช่วงแรกเกิด – 6 สัปดาห์แรกจะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย แต่โดยปกติเด็กนมแม่จะถ่ายบ่อยและถ่ายค่อนข้างเหลว ซึ่งการสังเกตการขับถ่ายช่วยบ่งบอกสุขภาพของลูกได้อย่างดี โดยเฉพาะสีของอุจจาระ โดยสีของอุจจาระที่เป็นปกติสำหรับเด็กนมแม่ได้แก่ สีเหลือง, สีน้ำตาลอ่อน หรือ อาจมีสีเขียวหากทานนมแม่ที่ทานผักมาก สีของอุจจาระที่คุณแม่ควรพบแพทย์ได้แก่สีแดง สีดำ และสีซีด

ลูกถ่ายเหลวควรกังวลหรือไม่

เด็กนมแม่มักจะมีลักษณะอุจจาระค่อนข้างเหลว คุณแม่จึงไม่ควรเป็นกังวลหากไม่มีอาการป่วยอื่นๆร่วมด้วย

ลูกมีอุจจาระสีแดงหรือมีมูกเลือดปนออกมาเป็นอันตรายหรือไม่

อุจจาระสีแดงบ่งบอกว่าอาจมีเลือดออกในลำไส้ หรืออาจมีบาดแผลบริเวณทวารหนัก อุจจาระที่มีมูกเลือดปนออกมาอาจหมายถึงลูกมีอาการแพ้อาหารบางอย่าง ควรรีบปรึกษาแพทย์

ลูกไม่ถ่ายเมื่อเริ่มทานอาหารเสริม ผิดปกติหรือไม่

เมื่อลูกเริ่มทานอาหารบ้างแล้วอาจไม่ขับถ่ายเป็นเวลา 1-2 วัน แต่หากไม่ขับถ่ายเกิน 2 วัน ลูกอาจกำลังมีอาการท้องผูก ให้ลองปรับอาหารของลูกให้มีใยอาหารเพิ่มขึ้น และให้ลูกดื่มน้ำเพิ่มขึ้น

Image Credits

Photo by  Laura Ohlman from Unsplash

Photo by Zelle Duda from Unsplash

Comments are closed.