fbpx

คู่มือความเป็นแม่

ความหมายของคำว่า แม่

“แม่” เป็นคำเรียกผู้ให้กำเนิด ส่วนความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายคำว่า แม่ หมายถึง “หญิงในฐานะผู้ให้กำเนิดแก่ลูก หรือคำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดตน” ซึ่งนอกจากผู้ให้กำเนิด สำหรับลูกนั้น แม่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ นอกจากให้กำเนิดแล้วยังเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กจนโต แม่ยังมีความรักความเป็นห่วงให้ลูกอย่างไม่มีวันจบ

คำว่า “แม่” ในแต่ละภาษามีคำเรียกที่ต่างออกไป เช่น ภาษาอังกฤษเรียกว่า มาเธอร์ (Mother) ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า มามอง (Maman) ภาษาจีนเรียกว่า มาหม่ะ (Mama) ภาษาเกาหลีใช้คำว่า ออมม่า (Omma) ซึ่งถึงแม้เสียงจะต่างกันแต่มีความคล้ายกันด้วยเสียง “ม” ซึ่งเป็นเสียงแรกตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งนักภาษาศาสตร์ได้ศึกษาว่าเสียง “มามา” เป็นเสียงที่ง่ายสำหรับทารก ในการออกเสียงเพื่อขออาหาร หรือเมื่อต้องการความอบอุ่น ปลอดภัย ซึ่งแสดงว่าคำว่า “แม่” ยังบ่งบอกถึงความผูกพันในใจด้วย

หน้าที่ของแม่ที่มีต่อลูกตามกฎหมาย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ครอบครัว หมวด ๒ สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร (มาตรา ๑๕๖๑ – ๑๕๘๔/๑) ได้ระบุถึงสิทธิและหน้าของบิดามารดาและบุตร มีตัวอย่างดังนี้

มาตรา ๑๕๖๔  บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์
               บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

มาตรา ๑๕๖๖๑  บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
               อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) มารดาหรือบิดาตาย
               (๒) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
               (๓) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
               (๔) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
               (๕) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
               (๖) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้

 มาตรา ๑๕๖๗  ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ
               (๑) กำหนดที่อยู่ของบุตร
               (๒) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
               (๓) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
               (๔) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา ๑๕๘๔/๑๖  บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม

เตรียมพร้อมความเป็นแม่

สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งได้รับข่าวดี กำลังตั้งครรภ์และเตรียมตัวเป็นคุณแม่ ทั้งคุณแม่และทางครอบครัวอาจจะเตรียมพร้อมทางด้านข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นของเจ้าตัวน้อย แต่ก็อย่าลืมว่าคุณแม่ควรจะเตรียมความพร้อมทางร่างกายและทางจิตใจของคุณแม่เองด้วย เพื่อให้ลูกได้เจอกับคุณแม่ที่มีความสุข ซึ่งสิ่งที่คุณแม่ควรทำในช่วงนี้คือ

ออกกำลังกาย: การออกกำลังแบบเบาๆและปลอดภัยในช่วงตั้งครรภ์สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ทั้งร่างกายและจิตใจมีความเข้มแข็ง ซึ่งอาจช่วยให้คุณแม่จัดการภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นควรปรึกษาแพทย์สำหรับการออกกำลังที่เหมาะสมด้วยค่ะ

ขอตัวช่วย: คุณแม่สามารถขอความช่วยเหลือในด้านต่างๆจากเพื่อนหรือคนในครอบครัวได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร เรื่องการทำความสะอาดบ้าน หรืออาจจะขอความช่วยเหลือในการเลี้ยงลูกในช่วงที่เพิ่งคลอด

เข้าฝึกอบรมสำหรับคุณแม่: การเข้าฝึกอบรมช่วยให้เรามีข้อมูล และได้ฝึกหัดการดูแลเด็กเล็กในหลายๆด้าน จะช่วยให้รู้สึกมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น

ดูแลตัวเอง: ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด การเป็นแม่เป็นงานที่เหนื่อย ดังนั้นคุณแม่จึงควรหาเวลาพักผ่อน ปรนนิบัติตนเองบ้าง เพื่อผ่อนคลายและพักจากกิจวัตรประจำวัน

หาเวลาว่างให้ชีวิตคู่: ในช่วงที่ทุกคนรวมถึงคุณพ่อและคุณแม่เองจะมุ่งเน้นความสนใจไปที่เจ้าตัวน้อย แต่ก็อย่าลืมหาเวลาให้กันและกันในการทำกิจกรรมที่ชอบร่วมกัน หรือมีโมเมนต์สวีทๆให้กันบ้างนะคะ

เชื่อมั่นในความเป็นแม่: หลังจากที่เตรียมพร้อมในทุกด้านแล้ว อย่าลืมเชื่อมั่นในตัวเองว่าคุณทำได้ คุณเป็นแม่ที่ดีได้ค่ะ

แม่ที่ดีของลูกเป็นได้ไม่ยาก

การเป็นแม่ที่ดีควรมีทักษะสำคัญ 10 ประการ ตามที่ Dr.Robert Epstein ได้กล่าวไว้ในหนังสือ What Makes a Good Parent? ดังนี้

  1. แสดงออกทางความรัก ทางร่างกาย และการใช้เวลาที่มีคุณภาพกับลูก
  2. การจัดการความเครียดของคุณแม่เองหรือลูก ด้วยทัศนคติเชิงบวก
  3. การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อทุกๆคน
  4. การมีอิสระและเป็นตัวของตัวเอง เคารพในความคิดของลูก และส่งเสริมการพึ่งพาตัวเอง
  5. การศึกษาและเรียนรู้: ให้การส่งเสริมและสนับสนุนลูกด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี
  6. ทักษะชีวิต: เราเลี้ยงลูกได้ดีด้วยรายได้ที่มั่นคงและการวางแผนอนาคต
  7. การจัดการพฤติกรรมของลูกด้วยทัศนคติเชิงบวก โดยจะลงโทษเมื่อจำเป็นมากเท่านั้น
  8. สุขภาพ: เราควรเป็นแบบอย่างในการดูแลสุขภาพ และสร้างนิสัยในการรักสุขภาพให้ลูก
  9. ศาสนา: ให้การสนับสนุนการเข้าร่วมศาสนาหรือความเชื่อทางจิตวิญญาณ
  10. ความปลอดภัย: คอยปกป้องให้ลูกปลอดภัย และคอยดูแลเมื่อลูกทำกิจกรรมหรือมีเพื่อน

การเป็นแม่ที่มีความสุข

ในยุคที่ความคาดหวังในการเลี้ยงลูกค่อนข้างสูง ทั้งด้านสุขภาพของลูก การเข้าโรงเรียน หรือวิธีเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง คุณแม่ก็อาจจะมีความเครียด กังวลต่างๆทั้งต่อตัวลูก และอาจจะกดดันตัวเองโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมัมมี้ลิเชียสจูซได้สรุปจากคำแนะนำในบทความ พ่อแม่ที่สุขเป็น ของ แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร หรือคุณหมอโอ๋ จากเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้ดังนี้

  1. ชีวิตลูกไม่ใช่ของเรา: ต้องปล่อยวางใจ ไม่บังคับกำหนดชีวิตลูกให้เป็นแบบที่เราต้องการ แต่ทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมทางเดินชีวิต
  2. การเลี้ยงลูกไม่ใช่ทุกสิ่ง: เด็กแต่ละคนมีธรรมชาติต่างกัน การเลี้ยงดูจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการที่เด็กจะเติบโตเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
  3. เรามักไม่ได้ทุกข์จากสิ่งที่ลูกเป็น เราทุกข์จากสิ่งที่เราคาดหวังให้ลูกเป็น
  4. ลูกไม่ได้ต้องการพ่อแม่ที่ดีพร้อม แต่ต้องการพ่อแม่ที่ดีพอ: แค่เพียงเป็นพ่อแม่ที่รัก ใส่ใจและเข้าใจลูก
  5. ลูกมีความสุขกับพ่อแม่ที่มีความสุข: หาเวลาให้ตัวเองบ้าง หากเราไม่มีความสุข ลูกจะสุขได้อย่างไร
  6. เลี้ยงลูกเป็นเรื่องภาพรวม: อย่ากังวลกับความผิดพลาด ลูกให้อภัยเราได้เสมอถ้าลูกรู้สึกถึงความรักได้มากพอ
  7. มองลูกในแง่บวก: ลูกไม่ได้อยากทำตัวมีปัญหา แต่ลูกกำลังมีปัญหาที่ต้องการให้เราช่วยเหลือ
  8. การเลี้ยงลูกคือการพัฒนาตนเอง: ทำให้เราได้เสียสละ ฝึกความอดทน พัฒนาตนเองทุกด้ายเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก
  9. ไม่เปรียบเทียบลูก ไม่เปรียบเทียบเรา: อย่าเปรียบเทียบลูก หรือความเป็นพ่อแม่ของเรากับคนอื่นๆ เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานทางด้านต่างๆไม่เหมือนกัน
  10. อะไรเกิดขึ้นสิ่งนั้นดีเสมอ: พยายามหาข้อดีในทุกๆด้านให้เจอ

เพราะฉะนั้นหากคุณแม่อยากให้ลูกมีความสุข จึงควรทำตัวเองให้มีความสุขก่อน แล้วความสุขของคุณแม่จะล้นไปถึงลูก และลูกจะสัมผัสได้ถึงความสุขกับความรักที่แม่พร้อมมอบให้ค่ะ

Photo by Carlos DelgadoCamylla Battani, Andriyko Podilnyk, Manuel Schinner, Ben White on  Unsplash

Comments are closed.