การตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์สำหรับคุณแม่คนหนึ่ง ตั้งแต่ทราบว่าตัวเองตั้งท้อง จากผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง มาเป็นผู้หญิงที่ดูแล ปกป้อง เลี้ยงดูมนุษย์ตัวจิ๋วในครรภ์ด้วย เลือด เนื้อ และความรักของตัวเอง
ต้องเรียกว่าคุณแม่ใช้ชีวิตอยู่เพื่อลูกโดยแท้จริง เพราะเธอเลือกอาหารที่ทาน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่ส่งผลต่อทารกในครรภ์เสมอ
ซึ่งในระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ หนึ่งในเกณฑ์สำหรับพิจารณาว่าลูกเติบโตอย่างสุขภาพดีหรือไม่ก็คือน้ำหนักของลูก ซึ่งบางครั้งหากคุณแม่น้ำหนักไม่ขึ้นในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ มีความเป็นไปได้ว่าลูกตัวเล็กกว่าเกณฑ์
วิธีวัดน้ำหนักตัวลูกน้อยในครรภ์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
- ดูจากน้ำหนักของคุณแม่: หลังจากตั้งครรภ์ได้ครบ 3 เดือน น้ำหนักคุณแม่ควรขึ้นประมาณสัปดาห์ละ 0.2-0.5 กิโลกรัม
- การวัดความสูงยอดมดลูก: ใช้สายวัดวัดระดับยอดมดลูก โดยการวัดระยะจากรอยต่อของกระดูกหัวหน่าวไปจนถึงยอดมดลูก โดยแนบตามส่วนโค้งของมดลูก ซึ่งในช่วงอายุครรภ์ 18–30 สัปดาห์ ระยะที่วัดได้เป็นเซนติเมตร จะเท่ากับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ เช่น หากอายุครรถ์ 25 สัปดาห์ ควรวัดได้ 25 เซนติเมตร
- อัลตราซาวด์: การอัลตราซาวด์ช่วยประเมินน้ำหนักลูกในครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถมองเห็นความสมบูรณ์ และสามารถวัดขนาดตัวของลูกได้ โดยจะประเมินจาก
- ปริมาณน้ำคร่ำในท้อง
- ขนาดหน้าท้อง
- การลอยตัวของทารก

สาเหตุที่ทำให้ลูกมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ
- พันธุกรรม: คุณพ่อคุณแม่เป็นคนตัวเล็ก ลูกจึงมีน้ำหนักน้อยหรือตัวเล็กตาม
- มีความผิดปกติทางโครโมโซมของลูก หรือพิการแต่กำเนิด
- สุขภาพร่างกายของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์สามารถส่งผลต่อลูกได้ เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิต, โรคหัวใจ เป็นต้น
- ความผิดปกติของรก เช่น รกเกาะต่ำ หรือรกลอยตัวก่อนกำหนด ส่งผลถึงออกซิเจนหรือสารอาหารที่ลูกได้รับในครรภ์
- พฤติกรรมของคุณแม่ เช่น การเลือกทานอาหาร การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- การตั้งครรภ์แฝด
- คุณแม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือยังเป็นช่วงวัยรุ่น
วิธีเพิ่มน้ำหนักให้ลูกในครรภ์
1. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำงานให้น้อยลงหรือหาเวลาผ่อนคลายจากความเครียด เนื่องจากความเครียดส่งผลให้ลูกตัวเล็กได้
2. งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ และงดยาที่ไม่จำเป็น เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และคุณลูก
3. ทานอาหารที่เหมาะสำหรับคนท้องให้ครบทุกมื้อ หรือแบ่งเป็นมื้อเล็กๆและทานบ่อยขึ้น เพื่อไม่ให้ปริมาณมากจนเกินไป และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
4. ทานอาหารพลังงานสูงที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะประเภทโปรตีน เช่น ปลา หรือ ไข่ เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโต แต่ทั้งนี้ควรทานให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง
.
ทั้งนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อยู่เสมอ
จะทราบแน่ชัดได้อย่างไรว่าลูกมีน้ำหนักเหมาะสมหรือไม่
การอัลตราซาวด์เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก คุณแม่ควรฝากครรภ์และรับการอัลตราซาวด์เพื่ออยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัย
เลือกทานอาหารอย่างไรเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้ลูก
คุณแม่ควรเน้นอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ปลา ไข่ ถั่วต่างๆ ธัญพืช ผักใบเขียว อะโวคาโด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เช่น ขนมหวาน หรือเนื้อสัตว์ติดมันปริมาณมาก
ทำอย่างไรให้ลูกได้รับสารอาหารครบ หากแม่ทานได้ไม่มาก
แม่สามารถแบ่งการทานอาหารออกเป็นหลายๆมื้อได้ โดยทานเพียงเล็กน้อย แต่ทานให้บ่อยขึ้น เพื่อลดความอึดอัด และยังคงได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการครบถ้วน
Image Credit:
Photo by Anastasiia Chepinska on Unsplash
Infographic by Mommylicious Juice